วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เม่นทะเล

           เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ใน Phylum Echinodermata แต่คนทั่วไปเรียกว่าหอยเม่น ลักษณะโดยทั่วไปมีรูปร่างทรงกลม หรือรูปไข่ อวัยวะภายในห่อหุ้มด้วยเปลือก เป็นสารประกอบจำพวกแคลเซียม (calcareous skeleton) เป็นแผ่นแข็งขนาดเล็กหลาย ๆ แผ่นเรียงต่อกันทำให้ตัวหนาขึ้น บนตัวเม่นทะเล ปกคลุมไปด้วยหนามแหลม สั้นบ้าง ยาวบ้าง มีตะขอแหลม (spicule) หรือต่อมน้ำพิษ ที่เรียกว่า pedicellariae อยู่ตรงระหว่างหนาม ปรกติเม่นทะเลเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวช้า ไม่ดุร้าย อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามพื้นทราย ตามซอกหิน และแนวหินประการัง และใต้ท้องทะเลระดับลึก ๆ ในพื้นที่บริเวณอ่าวไทยพบเม่นทะเลกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้ง บริเวณทะเลฝั่งตะวันตก เม่นทะเลมักออกหากินในเวลากลางคืน กลางวันอาจพบได้เช่นเดียวกัน นักประดาน้ำ นักว่ายน้ำ และนักเดินเที่ยวตามริมชายหาด มีโอกาสเสี่ยงจากการได้รับบาดเจ็บ จากหนามแหลมของเม่นทะเลทิ่มตำ โดยอาจเหยียบบนตัวเม่นทะเล หรือจากการจับต้องโดย มิได้ระมัดระวัง เม่นทะเลมีต่อมน้ำพิษ (venom apparatus) อยู่สองชนิด คือ ต่อมน้ำพิษที่อยู่ที่ปลายหนามแหลม (spine) และต่อมน้ำพิษอยู่ในปุ่ม (pedicellariae) หนามแหลมเหล่านี้มีฐานเป็นรูปถ้วยยึดติดอยู่กับปมบนแผ่นเปลือก ทำให้หนามแหลมเคลื่อนไหว ไปมาได้ทุกทิศทาง หนามแหลมด้านบนของตัวเม่นทะเลมีขนาดยาวกว่าหนามด้านล่างหลายเท่า ส่วนหนามที่อยู่ด้านล่างของลำตัวจะสั้นกว่า ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนที่ เม่นทะเลส่วน ใหญ่มีหนามแหลมที่ตัน (solid) ปลายมนกลม น้ำพิษของเม่นทะเลประกอบด้วยสารหลายชนิด ได้แก่ steroid glycosides, hemolysins, proteases, serotonin และ cholinergic มีเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ยกเว้นเม่นทะเลบางชนิด เช่นเม่นทะเล ดำหนามแหลม หรือ Diadema setosum  เป็นเม่นทะเลชนิดที่มีหนามแหลมยาวรอบตัว หนามข้างในกลวง ผิวหนามโดยรอบขรุขระปลายคม หนามนี้อาจมีขนาดยาวถึง 30 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ฟุต หรือยาวกว่านั้น และอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ Toxopneustes pileotus มีต่อมพิษที่มีพิษรุนแรง เม่นทะเลชนิดนี้มีลักษณะคล้ายดอกไม้ มีปุ่มพิษ pedicellariae ขนาดใหญ่ กว่าเม่นทะเลชนิดอื่น ๆมาก ปุ่มพิษมีลักษณะเป็นก้านยาวยื่นออกไปจากลำตัว ตรงปลายเป็นกระเปาะ รูปร่างคล้ายดอกบัวตูม สามารถเปิด ปิดได้ เวลาเปิดจะเห็นเป็น 3 แฉก คล้ายคีม ปลายแฉกจะคม เป็นอาวุธใช้ต่อยและจับเหยื่อ (seizing organ) ถ้าถูกหนามของ เม่นทะเลดำ ชนิด Diadema setosum ทิ่มตำจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก ( burning pain) เนื่องจากหนามมีคุณสมบัติเปราะ แตกง่าย จึงหักคาอยู่ใต้ผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดเป็นเวลาหลายวัน เมื่อหนามหักคาอยู่ในกล้ามเนื้อซึ่งยาก แก่การบ่งเอาหนามออกเนื่องจากพื้นผิวบริเวณรอบหนามขรุขระจึงปวดทรมานแต่อาการจะค่อย ทุเลาลง ภายใน 20-30 นาที และจะชาตรงบริเวณที่ถูกตำ หากได้รับบาดเจ็บจากเม่นทะเลชนิด Toxopneustes pileolus ต่อย จะมีการปวดอย่างรุนแรง อาการจะทุเลาหลังจาก 15 นาที และจะมีอาการชาขึ้น ไปถึงบริเวณใบหน้า ลิ้น และหนังตา แม้ว่าอาการปวดจะหายไปหลังจาก 1 ชั่วโมง อาการชาตามใบหน้าก็ยังปรากฏต่อไปเป็นเวลาอีกหลายชั่วโมง หากได้รับพิษจำนวนมาก จะปวด อย่างรุนแรง ปวดร้าวสูงขึ้นไป หน้ามืดเป็นลม ชาตามตัว มีอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วน ต่าง ๆของร่างกาย ไม่มีเสียง หายใจลำบาก หายใจขัด และถึงแก่ความตาย ในการป้องกันการ ได้รับ พิษจากเม่นทะเล กล่าวคือไม่ควรเดินเล่นน้ำ เดินลุยน้ำหรือดำน้ำเล่น บริเวณที่มีเม่น ทะเล ชุกชุม เช่นตามแนวหินปะการัง เวลาเล่นน้ำ ดำน้ำ คลื่นอาจซัดไปมาทำให้ไม่สามารถ ประคับ ประคอง ตัวเอง เท้าอาจก้าวไปเหยียบ หรือนั่งทับบนตัวเม่นทะเลได้ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และไม่ควรไปจับหรือแตะต้องเม่นทะเลที่มีหนามแหลมคม แม้จะใส่ถุงมืออย่างหนาก็ไม่สามารถ ป้องกันได้เนื่องจากหนามแหลมของเม่นทะเลคมมาก สามารถแทงทะลุผ่านถุงมือเข้าเนื้อคนได้.

ที่มา: http://www.angelfire.com/journal2/c_prapan/sea_urchin.html

2 ความคิดเห็น: